ประวัติและความเป็นมา

                   ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา และการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและให้การปรึกษาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการการปรึกษา และการทดสอบทางจิตวิทยาให้แก่นิสิต บุคลากร และบุคคลทั่วไป ที่ต้องการความช่วยเหลือและการปรึกษาเพื่อให้เกิดการปรับตัวและสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ ด้านประเด็นส่วนตัว ด้านสัมพันธภาพ ด้านครอบครัวและสังคม อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการฝึกประสบการณ์ให้แก่นิสิตสาขาจิตวิทยา

                    ศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้การปรึกษา ได้ถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรก ในปี 2519 สมัยที่ รศ.ดร.ประสาท อิศรปรีดา เป็นหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนของภาควิชาที่ต้องการให้เป็นแหล่งให้บริการปรึกษาแก่นิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์พนม ลิ้มอารีย์ และรองศาสตราจารย์จตุพร เพ็งชัย จึงเป็นผู้นำในการดำเนินการ โดยให้นิสิตปริญญาโท จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว เป็นผู้ให้บริการปรึกษา แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงานมีความไม่ต่อเนื่องและขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากนิสิตส่วนใหญ่เป็นนิสิตภาคพิเศษ จึงไม่สามารถให้บริการในวันและเวลาราชการได้ ทำให้การให้บริการปรึกษาได้ว่างเว้นไปโดยปริยาย ต่อมาในสมัยที่อาจารย์ดร.อารยา ปิยะกุลที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาได้มีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาศูนย์ให้คำปรึกษาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายห้องให้คำปรึกษาจากอาคาร 5 คณะศึกษาศาสตร์ ไปที่สำนักอาคารแปดเหลี่ยม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วิทยาเขตเดิม) ได้มีการแต่งตั้งให้มีประธานศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้การปรึกษา คือ อาจารย์ดร. ภมรพรรณ์ ยุระยาตร์ แต่เนื่องจากอาจารย์ได้ลาคลอดบุตร จึงมีอาจารย์ในภาควิชาสลับกันเข้าดูแลศูนย์ฯ ต่อมาอาจารย์วิชชุลดา สุวรรณผู ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์ฯและมีอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนวประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ดร. รังสรรค์ โฉมยา อาจารย์ดร.อารยา ปิยะกุล อาจารย์ดร.ภมรพรรณ์ ยุระยาตร์ อาจารย์ชนิตา รุ่งเรือง อาจารย์ศุภชัย ตู้กลาง และอาจารย์ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์ ร่วมให้บริการปรึกษาและมีการนำนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 มาฝึกให้บริการปรึกษา โดยให้บริการเป็นห้องให้คำปรึกษา ชั้น 1 อาคารแปดเหลี่ยม ให้บริการในวันเวลาราชการ ยกเว้นช่วงที่มีการสอบกลางภาคและปลายภาค และหยุดให้บริการในช่วงปิดภาคเรียน ในช่วงนี้มีการพัฒนาเฟสบุคของศูนย์ให้คำปรึกษาและและมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของศูนย์ด้วยความมุ่งหวังให้ศูนย์ฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเริ่มมีการสร้างเครือข่ายกับเครือข่ายดูแลให้การช่วยเหลือนิสิต

                   ในภาคเรียนที่ 2/2556 อาจารย์ชนิตาและอาจารย์วิชชุลดาได้ลาศึกษาต่อ แต่ได้มีนโยบายที่จะขยายบริการของศูนย์ฯให้หลากหลายและเปลี่ยนชื่อศูนย์ใหม่เป็น “ศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้คำปรึกษา” ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Psychological Lab and Counseling Center”ในเดือน มกราคม 2558 ได้มีการโยกย้ายศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้คำปรึกษามายังชั้น 7 อาคารวิทยพัฒนา และมีการจัดตั้งทีมทำงานเพื่อพัฒนาการให้บริการของศูนย์ ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ใหญ่ในภาควิชาและผู้บริหารระดับสูงเป็นกรรมการอำนวยการ และมีอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติการประกอบด้วย อาจารย์ ดร.วิภาณี สุขเอิบ เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้คำปรึกษา และมีอาจารย์ร่วมปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์เวรอีกหลายท่าน ประกอบด้วย อาจารย์ ดร. ภมรพรรณ์ ยุระยาตร์ อาจารย์ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์ และอาจารย์ศุภชัย ตู้กลาง ซึ่งได้มีการฝึกนิสิตชั้นปีที่ 3 ให้สามารถให้บริการปรึกษาได้ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์เวร ในระหว่างที่ศูนย์ฯ

                      ในภาคเรียนที่ 1/2558 ศูนย์ฯได้มีการเปลี่ยนชื่อเล็กน้อย เป็นศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้การปรึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ล่าสุดของสมาคมแนะแนว ทั้งนี้ชื่อเรียกภาษาอังกฤษยังคงเดิม นิสิตชั้นปีที่ 4 เข้าเวรที่ศูนย์ฯอีกเป็นระยะเวลา 2 เดือน และในช่วงนี้นิสิตฝึกงานระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมาฝึกงานที่ศูนย์ฯ และได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์และเพิ่มบริการศูนย์ฯให้เป็นที่รู้จักในงานเปิดบ้านศูนย์ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการให้การปรึกษา ในวันศึกษาศาสตร์ (16 กันยายน 2558) โดยในวันดังกล่าวมีซุ้มนิทรรศการทางจิตวิทยา สัมมนาภาพยนตร์ทางจิตวิทยา ศิลปะบำบัด Biofeedback และการตอบปัญหาชิงรางวัล

                        ในปัจจุบัน กิจกรรมของศูนย์ฯประกอบด้วย บริการทดสอบทางจิตวิทยา การให้การปรึกษาประเด็นทางสุขภาพจิตและการปรับตัว การรู้จักและเข้าใจตนเองและผู้อื่น ความเครียดในชีวิตประจำวัน สัมพันธภาพ สุขภาวะ และอื่นๆ ตลอดจน การแนะแนวการศึกษาและอาชีพ และการเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยผู้ที่มีความรู้และทักษะทางจิตวิทยา ทั้งนี้ยังมีเอกสารและวีดิทัศน์ ทางจิตวิทยา เพื่อความรู้ ความผ่อนคลาย พร้อมได้สาระดีๆ ด้านสุขภาพจิต การอบรมเชิงปฏิบัติการ(workshop) ในหัวข้อทางจิตวิทยาเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้เรียนและบุคลากรในคณะศึกษาศาสตร์