การดูแลตนเอง (SELF-CARE) และแนวทางเบื้องต้นในการสร้างสุขภาวะที่ดี

  • by

ผู้มักถามผู้ให้การปรึกษาว่าไม่เครียดหรือในการทำงานให้การปรึกษาที่ต้องรับรู้แต่เรื่องราวของผู้รับบริการหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้ให้การปรึกษาก็เป็นปุถุชนคนหนึ่งที่ย่อมต้องมีความเครียดและความไม่สบายกายไม่สบายใจเช่นเดียวกัน เคล็ดลับอย่างหนึ่งของผู้ให้การปรึกษาที่จะคงไว้ซึ่งสมดุลพลังกายพลังใจเพื่อประสิทธิภาพอันเต็มเปี่ยมในการให้บริการ นอกเหนือจากความรู้และทักษะทางวิชาชีพแล้ว



ก็คือ การการดูแลตนเอง (self-care) ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งพบว่าตนเองเริ่มปวดหัวบ่อยๆ ความคิดไม่ปลอดโปร่ง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนัก รู้สึกล้า หรือหมดพลังในการทำงาน หิวบ่อยๆ หรือเบื่ออาหารมากกว่าปกติ รวมทั้งลักษณะการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหลับไม่สนิท นอนไม่พอ และตื่นมาไม่สดชื่น เบื่อ ไม่อยากพบเจอผู้คน ซึ่งนั่นเป็นลักษณะคร่าวๆ ของผู้ที่มีความเครียดสะสม ซึ่งประเด็นการดูแลตนเองนี้ไม่ได้สงวนไว้แค่แต่เพียงผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น หากทว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกับทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามก็ล้วนได้ประโยชน์จากการดูแลตนเองทั้งนั้น เพราะความเครียดมีผลกระทบต่อหลายด้านของชีวิตเราไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ พฤติกรรมการแสดงออก และความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ตลอดจนความผาสุกทางจิตวิญญาณ ในที่นี้จึงขอเสนอแนวทางดูแลตนเองง่ายๆ เริ่มได้ที่ตัวเรา อ้างอิงเพิ่มเติมมาจากแนวทางที่ Vivyan (2010) ได้สรุปเป็นวิธีที่ผู้ปรารถนาการมีสุขภาวะที่ดี สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังต่อไปนี้

รับประทานอาหารดีมีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหาร ครบหมู่ ปรุงสุกใหม่ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเช้า การรับประทานผักและผลไม้ ตลอดจนการดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอระหว่างวัน เป็นวิธีง่ายๆ ใกล้ตัว ที่คุณสามารถที่จะดูแลตนเองได้ทุกวัน

นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนที่มีคุณภาพคือการนอนหลับสนิทและให้เวลาเพียงพอให้ร่างกายได้รู้สึกพักผ่อน ตื่นมาสดชื่นและมีพลัง การเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลการนอนได้

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้สุขภาพกายแข็งแรง มีพลัง อารมณ์ดีขึ้น ลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ สิ่งสำคัญก็คือเมื่อเลือกรูปแบบการออกกำลังกายในแบบที่ชอบหรือเหมาะกับเราแล้วจงเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ และทำให้เป็นกิจวัตร

เมตตาต่อตนเอง

วัฒนธรรม กรรมพันธุ์ ศาสนา การเลี้ยงดู การศึกษา เพศสภาพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ประสบการณ์ชีวิตต่างๆ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เราเป็นเรามาจนทุกวันนี้ แต่ละคนย่อมต้องมีวันแย่ๆ บ้างในชีวิตหนึ่ง ช่วงที่สิ่งต่างๆ อาจไม่เป็นไปดังใจคิดหวัง แต่การกดดันหรือตีกรอบเคร่งครัดกับตนเองมากไปอาจให้สถานการณ์แย่ลง โปรดเมตตาตนเองและให้กำลังใจตัวเองบ้าง…จงปฏิบัติต่อตนเองดังเช่นที่เราจะปฏิบัติต่อเพื่อนในสถานการณ์เดียวกัน

ทำงานอดิเรกหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

การแบ่งเวลาให้งานอดิเรกที่เราสนใจหรือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นอกจากให้ความเพลิดเพลินแล้วยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่แปลกที่ท่านอาจจะลองหากิจกรรมที่สนุกและสร้างสรรค์ทำ ซึ่งเป็นการช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นกับตนเอง ช่วยให้เราได้ฝึกปรือฝีมือและความเชี่ยวชาญ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้พบปะบุคคลใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสริมความมั่นใจ เพิ่มพูนศักยภาพของตน ทั้งยังเป็นโอกาสดีๆ หรือเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

ทำตนให้เป็นประโยชน์ (ช่วยเหลือคนอื่น)

การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ชมรม โครงการของชุมชน ตลอดจนงานจิตอาสา งานการกุศล หรือแม้แต่การช่วยเหลือบุคคลที่เรารู้จักเพียงเล็กๆน้อยๆ ตามกำลัง ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น หากทว่าได้ก่อเกิดความรู้สึกดีๆ มีคุณค่า ให้กับตนเองด้วย

ผ่อนคลาย

ปล่อยให้ตนเองได้ผ่อนคลายสบายๆบ้าง มีวิธีการมากมายที่ช่วยให้เราได้ปลดปล่อยอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ดนตรี ศิลปะ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จินตนาการ หรือแม้แต่การทำสมาธิ

กระชับความสัมพันธ์

การหันหน้ามาสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนช่วยได้ บางครั้งกำลังใจดีๆ หรือ ความคิดดีๆ มุมมองที่แตกต่าง เราก็อาจจะพบเจอได้จากบุคคลใกล้ตัว

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมีนเมาและสารเสพติด

การพึ่งพาสารเสพติดหรือการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายทุกข์ นอกจากไม่ใช่ทางออกที่ดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาให้มีมากขึ้นด้วย

มองภาพรวมหรือภาพใหญ่ของเหตุการณ์

พวกเราต่างก็ให้ค่าให้ความหมายหรือตีความสถานการณ์จากมุมมองของเราเอง ดังนั้นการมองเหตุการณ์ที่เราเผชิญด้วยภาพรวม หรือภาพใหญ่ (big picture) ช่วยปรับมุมมองความคิดเราได้ ถามตนเองว่าเราให้ค่าหรือความหมายต่อสิ่งนี้อย่างไร สิ่งที่เรามองเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นแต่เพียงแต่ความคิดเห็นของเรา และถ้าเป็นคนอื่นมองเรื่องนี้เขาจะมองแบบไหนได้บ้าง สิ่งนี้มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน หรือว่ามันเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ผ่านไป แล้วสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ตอนนี้ล่ะคืออะไร

ยอมรับ : มันก็เป็นเช่นนั้นเอง

เรามักจะต่อต้านไม่อาจยอมรับสิ่งที่เราไม่ชอบไม่พึงพอใจ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นแค่ตระหนักรู้และเรียนรู้จากสิ่งนั้นหละ ในบางสถานการณ์ เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย สิ่งต่างๆ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ไม่คงอยู่ถาวร การยอมรับและเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งนั้นช่วยให้ชีวิตเบาโล่งขึ้น “ในเมื่อเราไม่อาจหยุดยั้งคลื่นที่โหมกระหน่ำนั้นก็โลดแล่นเล่นคลื่นซะเลย”

การดูแลตนเองเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีมีอีกหลายวิธีหลากหลายระดับ ท่านสามารถพิจารณาเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทของตน หลักสำคัญคือวิธีการดังกล่าวต้องนำมาซึ่งความสมดุล มีพลัง ให้กับชีวิตของท่านและช่วยให้ท่านสามารถใช้ชีวิตทั้งในด้านการเรียน การทำงานและ ด้านส่วนตัวอื่นๆ ตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเป็นสุข และมีประสิทธิภาพ

ดร.วิภาณี สุขเอิบ

อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม