ชีวิตที่ดีในมุมมองทางจิตวิทยาของเรา เป็นคำถามสำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือวัยที่กำลังค้นหาความเป็นไปได้ของชีวิตท่ามกลางสังคมที่มองผ่านความหมายของชีวิตที่ดีแบบฉาบฉวยและคับแคบมากในปัจจุบัน เราจะค้นหาศรัทธาในตัวตนของเราได้อย่างไร และเราจะมีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร อาจจะเป็นสองคำถามที่เราอาจจะรู้สึกว่ายากมากที่เราจะไปถึงคำตอบที่สมบูรณ์นั้นได้ ศาสตราจารย์ Meghan Sullivan และผู้ช่วยศาสตราจารย์ Paul Blaschko สองผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิต จาก University of Notre Dame ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า การที่บุคคลคนหนึ่งจะเป็นคนที่มีความสุข มีชีวิตที่ดีนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีเงินทอง อำนาจ วาสนา แต่มันขึ้นอยู่กับมุมมองบางอย่างในวิธีคิดของเรา ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ๆ อยู่ห้าประการกับการมีชีวิตของเราเพื่อที่จะทำให้เราได้ค้นพบกับคำว่า The Good Life ที่แท้จริง
1. ปรารถนาตามความจริง (Desire the Truth)
การวางเป้าหมาย ความต้องการและความปรารถนาบนพื้นฐานของความจริงและความเป็นไปได้ สิ่งนี้จะทำให้เราค้นพบความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ต้องทะเยอทะยาน กับอะไรที่มันเกินความเป็นจริงของเรา
2. มีชีวิตอยู่อย่างไม่เห็นแก่ตัว (Live Generously)
เราทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อตัวเองโดยที่ไม่เบียดบังหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
3. รับผิดชอบ (Take Responsibility)
ใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อคนที่เรารัก และต่อคนที่รักเรา
4. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ (Work with Integrity)
ความซื่อตรง ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ช่วยให้เราได้ค้นพบสาระ แก่นสารของการมีชีวิตอยู่ ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราได้ตอบแทนสิ่งต่าง ๆ ที่หล่อหลอมขึ้นมาเป็นตัวเราได้อย่างไร
5. มั่นคงกับความรัก (Love Attentively)
ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อสิ่งใด ๆ ก็ตาม ความรักนำมาซึ่งความปรารถนาดี ความห่วงใย การเอาใจใส่ ดังนั้นหากเราใช้ชีวิตอย่างแคร์ความรู้สึกของทุกสรรพสิ่งก็จะทำให้เรารู้จักคุณค่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่ดี
หลัก 5 ประการนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่เราจะยึดถือและนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต เราไม่จำเป็นจะต้องยึดมั่นในหลักศาสนานับร้อยนับพันข้อ เพื่อให้เราเดินทางไปถึงนิพพานที่เป็นแก่นแท้ของชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่การใช้ชีวิตด้วยหลักง่าย ๆ เพียง 5 ข้อนี้ (ศีล 5 ยุคใหม่ : ทรรศนะผู้เขียน) ก็ทำให้เรามีความสุข และมีชีวิตที่ดีได้ เช่น เดียวกัน
รศ.ดร. รังสรรค์ โฉมยา
ผู้เขียนบทความ
Reference
Sullivan, M., & Blaschko, P. (2022). The Good Life Method: Reasoning Through the Big Questions of Happiness, Faith, and Meaning. Penguin Publishing Group.